รีวิวโครงการ
Ashton Asoke พาชมทำเลคอนโดหรูติด Terminal 21 และ MRT สุขุมวิท โดย อนันดา
29 สิงหาคม 2014
ข่าวสะเทือนวงการอสังหา เมื่อคอนโดหรูอย่าง Ashton อโศก ของ Ananda Developement โดนศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนใบอนุญาติก่อสร้าง ซึ่งคดีนี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 16 คน ได้ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คน
อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม ได้ที่ https://drive.google.com/file/d/12O3h_jQd37jPlLIOX9Fku8bnYeS41iSU/view
อ้างอิงจากมติชน ศาลปกครองกลาง ให้เหตุผลว่า ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคาร Ashton อโศก ไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
ฉะนั้นการอนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ทำการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารโครงการ Ashton อโศก ที่ถนนสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสมควรที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับแจ้งการก่อสร้างอาคารพิพาททุกฉบับ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อมิให้คำสั่งดังกล่าวมีผลในระบบกฎหมายต่อไป โดยระบุ โครงการ แอชตัน อโศก ซึ่งเป็นอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ขนาดความสูง 51ชั้น รวมชั้นใต้ดิน ในพื้นที่ขนาด 2.3ไร่ ในซอยสุขุมวิท 19 แยก2 ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาเบื้องต้น เป็นของศาลอุทธรณ์กลางผู้ถูกฟ้องคดียังสามารถอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก
Ananda Development เตรียมยื่นอุทธรณ์
และล่าสุดทาง Ananda Development ผู้พัฒนาโครงการ Ashton Asoke ก็ได้ออกจดหมายมาชี้แจง และเตรียมยื่นอุทธรณ์ โดยมีรายละเอียดตามเนื้อความด้านล่าง
ตามที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ของโครงการ แอชตัน อโศก ที่ดำเนินการ โดยบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัดนั้น บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)ในนามผู้บริหารโครงการและผู้ถือหุ้นขอเรียนว่า เป็นเพียงคำตัดสินของศาลปกครองกลางเท่านั้น และบริษัทฯในฐานะผู้บริหารโครงการยังมีความเห็นแตกต่างจากคำพิพากษาดังกล่าวในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่สำคัญ จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด
ดังนั้น คำพิพากษาศาลปกครองกลางซึ่งเป็นศาลขั้นต้นยังไม่มีผลบังคับจนกว่าจะมีคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด จึงยังไม่มีผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของเจ้าของร่วมแต่อย่างใดกรณีพิพาทดังกล่าว บริษัทฯ ผู้บริหารโครงการขอยืนยันว่าบริษัทฯได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ โดยผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนดังที่เคยแจ้งต่อสาธารณชนมาก่อนหน้านี้แล้ว
บริษัทฯขอให้ความมั่นใจว่า บริษัทฯในฐานะผู้บริหารโครงการจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าและเจ้าของร่วมอย่างเต็มกำลังความสามารถ และจะมีการแจ้งให้เจ้าของร่วมและ ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านได้ทราบถึงความคืบหน้าต่อไป
หุ้น Ananda Development ลดลง 14% ในวันที่ 2 ส.ค. 2564
และเมื่อเช้าวันนี้ มูลค่าหุ้นของ Ananda Development ลดลง 14% ซึ่งทาง Ananda Development ได้ส่งจดหมายแจ้งตลาดเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เพื่อชี้แจงว่าบริษัทไม่ได้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวโดยตรง และไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดตามคำพิพากษา แต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหายจากการแพ้คดีของรัฐที่ถูกฟ้อง และพร้อมที่จะดำเนินการอุทธรณ์ต่อไป
#SaveAshtonAsoke อนันดาออกมาชี้แจง พร้อมเตรียมช่วยเหลือลูกบ้าน และยื่นอุทธรณ์ใน 30 วัน
หลังจากเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ศาลปกครองกลาง(ศาลชั้นต้น) ได้มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาติก่อสร้างคอนโด #AshtonAsoke ทำให้วันนี้หุ้นของ Ananda Development ร่วงลงกว่า 14% ล่าสุดทางบริษัทได้ออกมาชี้แจ้งเพิ่มเติมว่า กำลังอยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ใน 30 วัน และพร้อมช่วยเหลือลูกบ้านอย่างเต็มความสามารถ แม้ว่าการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด อาจกินระยะเวลานาน 3-5 ปี
ปัจจุบัน Ashton Asoke ขายไปได้ 87% หรือประมาณ หรือประมาณ 666 ยูนิต มีลูกบ้านเข้าอยู่ 578 ครอบครัว แบ่งเป็นลูกค้าคนไทย 458 ครอบครัว และต่างชาติอีก 140 ครอบครัว ที่ได้เข้าอยู่ในโครงการมากว่า 2 ปี
ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Ananda Development กล่าวว่า การที่ศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง Ashton อโศก ถือเป็นความไม่เป็นธรรมอย่างมาก และสะเทือนถึงความล้มเหลวของระบบ–ระเบียบราชการไทย เนื่องจากโครงการนี้ ผ่านการอนุมัติของหน่วยงานรัฐถึง 8 หน่วยงาน เอกสาร 9 ฉบับ อีกทั้ง มีการผ่านการขอความเห็น ก่อนดำเนินการจาก 7 หน่วยงาน จำนวน 5 คณะกรรมการ ด้านพันธมิตรที่ร่วมทุนอย่าง Mitsui Fudosan เป็นบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ยึดถือกฏระเบียบและความถูกต้อง ดังนั้นไม่มีทางที่บริษัทจะจงใจทำผิดกฏหมาย แต่สุดท้ายกลับเกิดปัญหาขึ้น
อย่างไรก็ตาม Ashton อโศก ไม่ใช่โครงการแรกที่ใช้ทางออกร่วมกับ รฟม. หากเคสนี้ยื่นอุทธรณ์ไม่ผ่าน น่าจะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่ออสังหาริมทรัพย์ในไทย รวมไปถึงหลายๆ อาคารที่มีการใช้ที่ดินลักษณะเดียวกัน
เสียงของลูกบ้าน Ashton อโศก ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองกลาง
อัพเดทวันที่ 10 ก.ค. 2564 ทางลูกบ้านของโครงการได้ออกจดหมายแถลงการณ์ต่อคำพิพากษา และขอความชัดเจนในการเยียวยาจากทางบริษัทและภาครัฐ
ผลกระทบที่ลูกบ้านได้รับเบื้องต้น
1. ลูกบ้านหลายท่านที่ได้ยื่นคำขอรีไฟแนนซ์ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสถาบันการเงิน ได้รับคำตอบปฏิเสธการให้สินเชื่อจากสถาบันด้วยเหตุที่หลักประกันไม่มีความน่าเชื่อถือเนื่องจากศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์ของผู้พัฒนาโครงการ
2. ผู้จะซื้อห้องชุดพักอาศัยต่อจากลูกบ้านท่านเดิมมีความกังวลใจในกรรมสิทธิ์ของห้องชุดในโครงการและบางรายได้ตัดสินใจยกเลิกสัญญาด้วยความไม่มั่นใจในกรรมสิทธิ์ห้องชุด โดยเหตุที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์ของผู้พัฒนาโครงการ
แนวทางในการเยียวยา ที่ลูกบ้านเสนอขึ้นมา
- ขอให้ทางผู้พัฒนาโครงการและสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือในการพิจารณาคำขอรีไฟแนนซ์ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสถาบันการเงินโดยเร่งด่วน
- ขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตก่อสร้างหรือตามกฎหมายควบคุมอาคารพิจารณาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคอันสืบเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารที่ไม่สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน โดยให้เสนอมีการแก้ไขกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการพัฒนาตามความเจริญของชุมชนเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อป้องกันมิให้โครงการห้องชุดพักอาศัยที่อยู่ในแนวรถไฟฟ้าใต้ดินกว่า 100 โครงการที่มีความสูงตั้งแต่ 8 ชั้นขึ้นไปได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับโครงการของเรา
- ขอให้คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคและคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในสภาผู้แทนราษฎรทำการพิจารณาศึกษาปัญหาและอุปสรรคอันสืบเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารที่ไม่สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และเสนอแนวทางเยียวยาแก่กลุ่มลูกบ้านชาวแอซตันอโศกที่ได้รับผลกระทบ
Update 30 ส.ค. 2564 แถลงการณ์ฉบับที่ 2 จากลูกบ้าน Ashton อโศก หลังจากไม่ได้รับการตอบรับจากทาง Ananda Development
กลุ่มลูกบ้าน Ashton อโศก ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2564 เรียกร้องให้ Ananda Development ออกมาตรการช่วยเหลือลูกบ้าน หลังยื่นหนังสือถามความคืบหน้าไปตั้งแต่ 24 ส.ค.แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป และหากไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ใน 14 วัน นับจากนี้ จะยกระดับข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานราชการและผู้พัฒนาโครงการต่อไป โดยมีรายละเอียดตามข้อความด้านล่าง
Think of Living ได้มีการสอบถามความคืบหน้าไปทาง Ananda Development โดยบริษัทได้แจ้งกลับมาว่า มีการยื่นอุทธรณ์ไปที่ศาลปกครองสูงสุด ในวันที่ 27 ส.ค. 2564
สำหรับ Ashton อโศก เป็นคอนโดร่วมทุนระหว่าง Ananda Development กับ Mitsui Fudosan มูลค่าโครงการ 6,000 ลบ. โดยเปิดตัวในปี 2557 ในราคาเริ่มต้น 210,000 บาท/ ตร.ม. ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงในขณะนั้น แต่หลังจากโครงการสร้างเสร็จในปี 2560 กลับเจอปัญหาไม่ได้รับเอกสารรับรองการก่อสร้าง และเปิดใช้อาคาร (หรืออ.6) จากกทม. ทำให้ไม่สามารถส่งมอบคอนโดให้กับลูกค้าได้ภายใน มี.ค. 2561 จนต้องขยายเวลาออกส่งมอบเป็นมิ.ย. 2561
อ่านจดหมายชี้แจงของอนันดา ชี้แจงเรื่องการได้รับใบอ.6 ได้ที่ Ashton อโศก ประกาศข่าวดี เริ่มโอนได้แล้ว
ศาลปกครองสูงสัดนัดพิจารณาคดี เพิกถอนในอนุญาติ Ashton Asoke
วันที่ 20 กันยายน 2565 เวลา 09.30 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องขอเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการแอชตัน อโศก และขอเพิกถอนใบอนุญาตให้โครงการดังกล่าวใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางเข้า-ออกสู่ถนนอโศกมนตรี
ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีหมายเลขดำที่ อส. 67/2564 ระหว่างสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 16 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (ผู้ร้องสอด) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
รายละเอียดนั้นผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ กรณีร่วมกันออกคำสั่งอนุมัติหรืออนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนก่อสร้างอาคารชุดที่พักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ ชื่อโครงการแอชตัน อโศก ในซอยสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร
โดยขัดต่อกฎหมาย ละเมิดสิทธิชุมชนและละเมิดสิทธิความเป็นอยู่ส่วนบุคคลของชาวบ้านโดยรอบพื้นที่โครงการดังกล่าว ด้วยการปล่อยให้มีการปิดกั้นหรือใช้ประโยชน์ถนนสาธารณะนอกขอบวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีเดือดร้อนเสียหาย
คดีดังกล่าวศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือทุกฉบับในกรณีดังกล่าว
สำหรับกำหนดนัดพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงจะเกิดขึ้นที่ห้องพิจารณาคดี 12 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
- https://mgronline.com/stockmarket/detail/9640000075578
- https://www.thansettakij.com/property/490066?fbclid=IwAR3I_HjglazkSRFUc6A9edY4wbi5nJQ29QsmdmkAmX23VzSd1uCwy9JpVu8
- https://www.prachachat.net/property/news-728959
- The Standard